Stainless Steel
“สแตนเลส” หรือ “เหล็กกล้าไร้สนิม” เป็น ศัพท์ทั่วไปที่ใช้เรียกเหล็กใน กลุ่มที่มีความต้าน ทานการกัดกร่อนสูง สแตนเลสเป็นโลหะผสมระหว่างเหล็กและคาร์บอน ซึ่งส่วนประกอบจะมีปริมาณคาร์บอนต่ำ มีโครเมียม เป็นส่วนผสมหลัก ประมาณ 10.5 % หรือมากกว่าทำให้เกิดการสร้างฟิล์มโครเมียมออกไซด์ (chromium oxide film : CrO2 หรือเรียกว่า passive film)ที่มองไม่เห็นเกาะติด แน่นอยู่ที่ผิวหน้าทำให้เหล็กกล้า มีความต้านทานการกัดกร่อน
สแตนเลส สามารถปรับปรุงคุณสมบัติในการต้านทานการกัดกร่อนและสมบัติอื่นๆที่ต้องการ ให้สูงขึ้นได้โดยการเพิ่ม ส่วนผสมของโครเมียมและเพิ่ม ธาตุอื่นๆเช่นโมลิบดิบนัม นิกเกิลและไนโตรเจนเข้าไป สแตนเลส มีอยู่มากกว่า 60 ชนิด
ประเภทของสแตนเลสมี 5 ประเภท
1.กลุ่มออสเทนนิติค (Austenitic) หรือที่รู้จักกันใน "ซีรี่ส 300" ซึ่งประมาณได้ว่า 70เปอร์เซนต์ของการผลิตสเตนเลสในโลกนี้เป็นสแตนเลสตระกูลออสเทนนิติค ที่ประกอบด้วยคาร์บอนอย่างน้อย 0.15 เปอร์เซนต์ มีส่วนผสมของโครเมียมอย่างน้อย 16 เปอร์เซนต์ และ นิกเกิล หรือซึ่งช่วยปรับปรุง คุณสมบัติในการขึ้นรูปประกอบและเพิ่มความทนทานต่อการกัดกร่อน บางเกรดจะมีแมงกานีสผสมอยู่ด้วย โดยทั่วไปจะมีโครเมียม 18 เปอร์เซนต์ นิกเกิ้ล 10 เปอร์เซนตื และมักเรียกกันว่า 18/10 ซึ่งคล้ายกับ 18/0 และ 18/8 เช่น สแตนเลส เกรด 201, 301, 304, 304L, 304/304L, 316L, 316/316L, 316Ti, 317L, 321, S31726, 347, N08904, S31254, S32654 การใช้งานอุปกรณ์เครื่องครัว เครื่องใช้บนโต๊ะ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า งานตกแต่งอาคาร งานสถาปัตยกรรม อุปกรณ์ในการผลิตเบียร์ หรือการผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหารที่มีสมบัติต้านทานที่เกี่ยวข้องกับ ความสะอาดและสุขศาสตร์อนามัย เช่น เครื่องมือในโรงพยาบาล เวชภัณฑ์ สามารถใช้งานที่อุณหภูมิต่ำติดลบ สำหรับถังเก็บแก๊สเหลวและสามารถใช้งานที่ อุณหภูมิสูง เช่นทำท่อแลกเปลี่ยนอุปกรณ์ความร้อน ทำอุปกรณ์ควบคุมหรือกำจัดมลภาวะ และควันพิษ งานท่อ ถังเก็บ ภาชนะที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมและภาชนะ ความดันที่ใช้ในอุตสาหกรรมเคมี ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อุตสาหกรรมเหมืองแร่ การผลิตเนื้อเยื่อกระดาษและกระดาษ อุปกรณ์ในตู้โดยสารรถไฟ รถเข็น อาหาร
2.กลุ่มเฟอร์ริติค (Ferritic) มีสมบัติดูดแม่เหล็ก มีโครเมียมเป็นธาตุผสมหลักระหว่าง 10.5-27 เปอร์เซนต์ บางเกรดผสมนิกเกิ้ลลงไปเล็กน้อย บางเกรดผสมโมลิบดินัม หรืออลูมิเนียม ไททาเนียม เช่น สแตนเลส เกรด 409,S41050,410S,430 การใช้งาน สำหรับงานอุปกรณ์ตกแต่งในอาคาร เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ช้อนส้อม มีด และเครื่องใช้ในครัว อ่างล้าง อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน งานสถาปัตยกรรม เครื่องถ่ายความร้อนในกระบวนการผลิตและอุปกรณ์เครื่องใช้ในการผลิตอาหารนม แกนและถังปั่นในเครื่องซักผ้าและเครื่องล้างจาน นอกจากนี้สามารถนำไปใช้ในงานเรือเดินสมุทร ทำแผ่นดาดฟ้าเรือ ฝายน้ำล้น โซ่ในงานขนถ่ายสินค้า อุปกรณ์ ดูดฝุ่นและควัน เป็นต้น
3.กลุ่มมาร์เทนซิติค (Martensitic) เป็น ตระกูลที่มีความต้านทานการกัดกร่อนน้อยกว่าออสเทนนิติค และเฟอร์ริติค แต่มีความทนทานและแข็งแรงมากกว่า มีคุณสมบัติดูดแม่เหล็ก โดยทั่วไปจะมีส่วนผสมของโครเมียม 12 -14 เปอร์เซนต์ โมลิบดินัม 0.2-1 เปอร์เซนต์ มีนิกเกิ้ล 0-2 เปอร์เซนต์และมีคาร์บอนผสม อยู่ประมาณ 0.1-1 เปอร์เซนต์ ซึ่งสามารถชุบแข็งได้โดยการให้ความร้อนแล้วทำให้เย็นตัวอย่างรวดเร็วและอบ คืนตัว โดยทั่วไปจะรู้จักกันใน "ซีรี่ส -00" เช่น สแตนเลส เกรด S42010,420 การใช้งานสำหรับอุปกรณ์ที่ต้องการความทนทานและมีความแข็ง เช่น ทำใบมีด เครื่องมือผ่าตัด ตัวยึด กระสวยหรือแกนเพลา หัวฉีด เพลา และสปริง โดยทั่วไปผลิตออกมาในรูปเป็นท่อนแบน แผ่น และงานหล่อ
4.กลุ่มดูเพล็กซ์ (Duplex) เนื่องจากมีโครงสร้างผสมระหว่าง โครงสร้างเฟอร์ไรต์และออสตไนต์ จึงทำให้มีความแข็งแรงมากกว่าออสเทนนิติคและมีความทนทานต่อการกัดกร่อนชนิด รูเข็ม ซอกอับ มีโครเมียมเป็นธาตุผสมอยู่ระหว่าง 19 ถึง 28 เปอร์เซนต์ โมลิบดินัมสูงกว่า 5 เปอร์เซนต์ และมีนิกเกิลน้อยกว่าตระกูลออสเทนนิติคใช้งานมากในสภาพแวดล้อมที่มีคลอไรด์ สูง เช่น สแตนเลส เกรด 904L,254 SMO,SAF2304,AF2507,2205,LDX2101 การใช้งานสำหรับนำไปทำแผงและท่ออุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน อุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุ ถังเก็บ และถัง ความดันในบรรยากาศแวดล้อมของคลอไรด์ ที่มีความเข้มข้นสูง ตัวอย่างงานได้แก่ อุปกรณ์ หล่อเย็นด้วยน้ำทะเล การกลั่นน้ำทะเลให้บริโภคได้ อุตสาหกรรม หมักดอง เหมืองฉีดน้ำ อุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊ส
5.กลุ่มเพิ่มความแข็งโดยการตกผลึก มีความต้านทานกการกัดกร่อนเทียบเคียงกับตระกูลออสเทนนิติค มีความแข็งแรงมากกว่าตระกูลมาร์เทนซิติค เกรด 17-4H ที่รู้จักกันทั่วไป มีโครเมียมผสมอยู่ 17 เปอร์เซนต์และมีนิกเกิล 4 เปอร์เซนต์ ทองแดง และไนโอเบียม ผสมอยู่ด้วย เนื่องจาก สเตนเลสชนิดนี้สามารถชุบแข็งได้ในคราวเดียว จึงเหมาะสำหรับทำแกน ปั๊มหัววาล์ว และส่วนประกอบของ อากาศยาน เช่น สแตนเลส เกรด 304H,321H,309S,S30415,310S,S30815,S35315,253MA,309S การใช้งานสำหรับทำแกน ปั๊มหัววาล์ว และส่วนประกอบของ อากาศยาน
สแตนเลสเกรดพิเศษ
ทนต่อความร้อนสูง : 253MA,309S,310S
สแตนเลสที่ออกแบบมาให้ทนต่ออุณหภูมิสูงเป็นหลัก สำหรับใช้งานที่อุณหภูมิเกิน 550c ถึงสูงสุด 1100c
คุณสมบัติเฉพาะ
*ทนต่อการเกิดออกซิเดชันได้ดีเยี่ยม
*ทนต่อการกัดกร่อนที่อุณหภูมิสูงได้ดีเยี่ยม
*ความแข็งแรงทางกลที่ดีเยี่ยม
แอปพลิเคชั่น
*โรงแปลงพลังงาน
*โรงงานเคมี
*โรงงานแปรรูปซีเมนต์
Duplex
Stainless 904L,254 SMO,SAF2304,SAF2507,2205,LDX2101
เหล็กกล้าไร้สนิมออสเทนเนติก 50% + เฟอร์ริติก 50% ซึ่งรวมคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์มากมายของสเตนเลสสตีลออสเทนเนติกและเฟอร์ริติกเข้าด้วยกัน ด้วยโครเมียม ไนโตรเจน และโมลิบดีนัมที่มีปริมาณสูง จึงให้ความทนทานต่อการกัดกร่อนเฉพาะที่และสม่ำเสมอได้ดีเยี่ยม
คุณสมบัติลักษณะ
*ทนต่อการกัดกร่อนแบบสม่ำเสมอ, รูพรุน, รอยแยกและการแตกร้าวจากการกัดกร่อนได้ดีเยี่ยม
*ความแข็งแรงทางกลสูง
*ทนต่อการขัดถูและการสึกกร่อนได้ดี
*การดูดซึมพลังงานสูง
*การขยายตัวทางความร้อนต่ำ
*เชื่อมได้ดี
แอปพลิเคชั่น
*อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ
*โรงกลั่นน้ำทะเล
*แก๊สไอเสีย
*เรือบรรทุกสารเคมี
*ระบบน้ำทะเล
*กำแพงไฟและกำแพงระเบิดบนแท่นนอกชายฝั่ง
คุณสมบัติของสินค้าแต่ละเกรด
สแตนเลส 304 เป็นเกรดที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะมีความทนทานต่อการกัดกร่อนสูงมาก สามารถขึ้นรูปเย็น และเชื่อม ตัด แปรรูปได้ดี สามารถใช้กับงานทั่วไปได้แทบทุกงาน ที่ต้องมีสแตนเลสเป็นส่วนประกอบ ที่สำคัญไม่เกิดสนิมได้ง่ายแน่นอน
สแตนเลส 304L มีลักษณะพิเศษที่คล้ายกับเกรด 304 แต่ใช้เชื่อมงานได้ดีกว่า ไม่เป็นสนิม ส่วนใหญ่จะนิยมนำไปใช้ทำงานแท้งค์ต่างๆ
สแตนเลส 316 มีคุณสมบัติที่ทนทานต่อการกัดกร่อนของกรดและสารเคมีเป็นอย่างมาก ทำปฏิกิริยากับกรดน้อย เหมาะสำหรับงานทนกรด ทนสารเคมี สเตนเลส 316L เป็นเกรดที่สูงกว่าเกรด 316 ทั่วไป เพราะจะมีการทนต่อกรดได้มากกว่า หรือทำปฏิกิริยากับกรดได้น้อยมาก เหมาะสำหรับงานที่ทนกรดเข้มข้น และสารเคมีที่มากกว่า
สแตนเลส 420 (มาตรฐานอเมริกา) /4202J2 (มาตรฐานญี่ปุ่น) เป็นเกรดสแตนเลส ที่สามารถนำไปชุบแข็งได้ มีความแข็งแรงทนทานสูง เหมาะกับงานอุปกรณ์การแพทย์ ใบมีด และแม่พิมพ์
สแตนเลส 431 เป็นเกรดที่มีการเคลือบแข็งที่ผิว นำไปชุบแข็งได้เช่นกัน แต่จะน้อยกว่าเกรด 420
สแตนเลส 301 มีความแข็งแรง ทนต่อการกัดกร่อน เหมาะสำหรับพวกงานสปริง คอนเทค และสายพานสำหรับลำเลียงวัตถุดิบต่างๆ
สแตนเลส 310 / 310S ทนความร้อนและอุณหภูมิสูงได้ดี เหมาะกับงานทำเตาอบ เตาฉลอม ฉนวนกันความร้อน
สแตนเลส 309/309S เกรดนี้สามารถทนความร้อนได้ดีเช่นกัน แต่จะทนได้น้อยกว่าเกรด 310 สามารถทนความร้อนได้ประมาณ 900 องศา
สแตนเลส 409/409S เกรดนี้ทนต่อความร้อนได้ดี มีความเสถียร จึงเหมาะกับการใช้กับงานอุปกรณ์ท่อไอเสียรถยนต์ มีน้ำหนักเบา และเรียกได้ว่ามีราคาถูกที่สุด
สแตนเลส 440C มีคาร์บอนสูงและความแข็งแรงสูง ทนต่อการกัดกร่อน เหมาะกับงานชุบแข็ง ทำพวกมีดประเภทต่างๆ โดยเฉพาะชุดมีดขนาดกลาง
สแตนเลส 416 มีความแข็งแรงสูง ทนความร้อน แต่ความต้านทานการกัดกร่อนยังไม่สูงมาก มักนำมาใช้เป็นพวกวาล์ว เพลา ชิ้นส่วนเกลียวอัตโนมัติ หรือ ชิ้นส่วนของเครื่องซักผ้า
สแตนเลส 430 มีพื้นผิวที่ทนทาน ความเงางามสูง ทนต่อการเกิดสนิมและการกัดกร่อนได้ดีเยี่ยม เหมาะอย่างยิ่ง สำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนภายในของเครื่องซักผ้า และเครื่องล้างจาน
Duplex Plate 2205/2207 เกรดนี้เป็นเกรดพิเศษ ใช้ในงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานสูง อย่างงานขุดเจาะแก๊สและน้ำมัน อุตสาหกรรมเคมี ปิโตรเคมี หรือพวกอุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อ
สแตนเลส 630 /17-4 PH เหมาะกับงานที่ต้องใช้สเปคสูง เป็นเกรดพิเศษที่ผลิตขึ้นมา สำหรับงานอะไหล่เครื่องบิน มีความเหนียว ทนทาน และแข็งแกร่ง
ผิวของสแตนเลส
สแตนเลส No.1 - รีดร้อนหรือรีดเย็น / อบอ่อน หรือปรับปรุงด้วยความร้อน คราบออกไซด์ไม่ได้ขจัดออก / ใช้งานในสภาพที่รีดออกมาโดยทั่วไปจะใช้งานที่ทนความร้อน
สแตนเลส 2D - สภาพผิว 2D หลังจากการรีดเย็นโดยลดความหนาลง ผ่านการอบอ่อนและการกัดผิวโดยกรดลักษณะผิวสีเทาเงินเรียบ
สแตนเลส 2B - ผิว 2D ที่ผ่านลูกรีดขนาดใหญ่กดทับปรับความเรียบ เพิ่มความเงาผิวเงาสะท้อนปานกลาง ผลิตโดยวิธีการรีดเย็น ตามด้วยการอบนำอ่อนขจัดคราบออกไซด์ และนำไปรีดเบาๆ ผ่านไปยังลูกกลิ้งขัด ซึ่งเป็นวิธีการทั่วไปของการรีดเย็น ผิวที่ได้ส่วนมากจะอยู่ในระดับ 2B
สแตนเลส BA - ผ่านกระบวนการรีดเย็นโดยความหนาลดลงทีละน้อยๆ ผ่านการอบอ่อนด้วยก๊าซไฮโดรเจน เพื่อป้องกันกันการออกซิเดชั่นกับออกซิเจนในอากาศ ผิวมันเงา สะท้อนความเงาได้ดี ผิวผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าไร้สนิมจะกระทำด้วยวิธีนี้ ซึ่งจะมีเครื่องหมาย BA หรือ No.2BA, A ซึ่งผิวอบอ่อนเงา จะมีลักษณะเงากระจก ซึ่งเริ่มต้นจากการรีดเย็น อบอ่อนในเตาควบคุมบรรยากาศ ผิวเงาที่เห็นจะเป็นการขัดผิวด้วยลูกกลิ้งขัดผิว หรือเจียรนัยผิวตามเกรดที่ต้องการ ผิวอบอ่อนเงาส่วนมากจะใช้กับงานสถาปัตยกรรม ที่ต้องการผิวสะท้อน ผิวอบอ่อนสีน้ำนมจะไม่สะท้อนแสงเหมือนกับ No.8 จะใช้กับงานที่เป็นขอบ ชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรม ภาชนะในครัว อุปกรณ์ในกระบวนการผลิตอาหาร
สแตนเลส No.4, Hair Line - สภาพผิว 2B ที่ผ่านการจัดถูด้วยกระดาษทรายเบอร์ 120-220 โดยค่าความหยาบขึ้นอยู่กับแรงกด, ขนาดของอนุภาคเม็ดทราย และระยะเวลาการใช้งานของกระดาษทราย ผิว No.4 เป็นสภาพผิวที่สนองต่อการนำไปใช้งานทั่วไป เช่นร้านอาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว อุปกรณ์รีดนม
สแตนเลส No.8 - สภาพผิว 2B, BA ขัดด้วยผ้าขัดอย่างละเอียดมากขั้นตามลำดับ เช่น #1000, ผ้าขนสัตว์ โดยมีผงขัดอะลูมิเนียมและโครเมียมออกไซด์ ผิว No.8 ส่วนมากจะเป็นผิวเงาสะท้อนคล้ายกระจกเงา ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กกล้าไร้สนิมชนิดแผ่นโดยผิวจะถูกขัดด้วยเครื่องขัดละเอียด นำไปใช้กับงานตกแต่งทางด้านสถาปัตยกรรม และงานที่เน้นความสวยงาม
ประโยชน์ของสแตนเลส
การเลือกใช้วัสดุในการประกอบชิ้นงานสำหรับผู้ประกอบการ ผู้ออกแบบหรือโปรดักซ์ดีไซน์ หรือแม้กระทั่งการนำวัสดุมา ใช้ใน บ้าน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนจะพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสียของวัสดุนั้นๆ ลองมาพิจารณาดูกันว่าสเตนเลสดีอย่างไร
1.ทนทานต่อการกัดกร่อน สแตนเลส ทุกตระกูลทนทานต่อการกัดกร่อน แต่จะแตกต่างกันไปตามส่วนผสมของโลหะ เช่น เกรดที่มีโลหะผสม ไม่สูง สามารถต้านทาน การกัดกร่อนในบรรยากาศทั่วไป ในขณะที่เกรดที่มีโลหะผสมสูงสามารถต้านทานการกัดกร่อน ในกรด ด่าง สารละลาย บรรยากาศคลอไรด์ ได้เกือบทั้งหมด
2.ความต้านทานต่ออุณหภูมิสูงและอุณหภูมิต่ำ สเตนเลส บางเกรดสามารถทนความร้อนหรือ/และความเย็น รวมถึงการเปลี่ยนอุณหภูมิโดยฉับพลันได้ดี และด้วยคุณสมบัติพิเศษในการทนไฟ ทำให้มีการนำสเตนเลสไปใช้ในอุตสาหกรรมขนส่ง อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี อย่างแพร่หลาย
3.ง่ายต่องานประกอบ หรือแปรรูป สเตนเลส ส่วนใหญ่สามารถ ตัด เชื่อม ขึ้นรูป ตบแต่งทางกล ลากขึ้นรูป ขึ้นรูปนูนต่ำได้ง่าย ด้วยรูปร่าง สมบัติ และลักษณะต่างๆของสเตนเลสช่วยให้ ผู้ผลิตสามารถนำสเตนเลสไปประกอบกับวัสดุอื่นๆได้ง่าย
4.ความทนทาน คุณสมบัติ เด่นอีกประการหนึ่งของสเตนเลสคือความแข็งแกร่งทนทาน สเตนเลสสามารถเพิ่มความแข็งได้ด้วยการขึ้นรูปเย็น ซึ่งใช้เพื่อออกแบบงาน โดยลดความหนา น้ำหนักและราคา สเตนเลสบางเกรดอาจใช้ในงานที่ทนความร้อนและยังคงความทนทานสูง
5.ความสวยงาม รูปทรงและพื้นผิวที่หลากหลายรูปแบบที่สวยงาม ทำความสะอาดได้ง่าย ปัจจุบันสเตนเลสมีสีให้เลือกมากมายด้วย กรรมวิธีชุบเคลือบผิวด้วยเคมี ไฟฟ้าสามารถทำให้สแตนเลสมีผิวสีทอง บรอนซ์ เขียว เงิน และสีดำ ทำให้สามารถเลือก ประยุกต์ใช้สเตนเลสได้อย่างมากมาย นอกจากนี้ ความเงางามของ สเตนเลสในอ่างล้างจาน อุปกรณ์ประกอบอาหาร หรือ เฟอร์นิเจอร์ทำให้บ้านดูสะอาดและน่าอยู่อีกด้วย
6.ความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ การ ทำความสะอาด การดูแลรักษาสแตนเลส และมีความเป็นกลางสูงจึงไม่ดูดซึมรสใดๆ เป็นเหตุผลสำคัญที่สเตนเลสถูกนำมาใช้งานในงานโรงพยาบาล เครื่องครัว ด้านโภชนาการและด้านเภสัชกรรม เนื่องจากความทนทาน ต้องการการดูแลรักษาน้อย และค่าใช่จ่ายต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาการใช้ งาน การใช้อุปกรณ์เครื่องครัวสแตนเลสในบ้านเรือนให้ความรู้สึกถึงความปลอดภัยแก่ผู้ใช้
7.ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สเตนเลสเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
วิธีทำความสะอาดสแตนเลส
รอยเปื้อน : รอยนิ้วมือ ล้างด้วยสบู่ ผงซักฟอก หรือสารทำละลาย เช่น แอลกอฮอล์ หรือ อะซีโตน ( Acetone) แล้วล้างออกด้วยน้ำเย็นจนสะอาด จากนั้นเช็ดให้แห้ง
รอยเปื้อน : น้ำมัน ล้างด้วยสารละลายไฮโดรคาร์บอน / ออร์กานิก (เช่น แอลกอฮอล์) แล้วล้างออกด้วยสบู่ /ผงซักฟอกอย่างอ่อน และน้ำ ล้างออกด้วยน้ำเย็น และเช็ดให้แห้ง แนะนำให้จุ่มชิ้นงานให้โชกก่อนล้างในน้ำสบู่อุ่น ๆ
รอยเปื้อน : สี ล้างออกด้วยสารละลายสี ใช้แปลงไนล่อนนุ่ม ๆ ขัดออก แล้วล้างออกด้วยน้ำเย็นและเช็คให้แห้ง
เปลี่ยนสีเนื่องจากความร้อน ทาครีม (เช่น บรัสโซ) ลงบนแผ่นขัดที่ไม่ได้ทำจากเหล็ก แล้วขัดคราบที่ติดบนสแตนเลสออก ความร้อนขัดไปในทิศทางเดียวกันกับพื้นผิว ล้างออกด้วยน้ำเย็น และเช็ดให้แห้ง
รอยเปื้อน : ฉลากและสติ๊กเกอร์ แช่ ในน้ำสบู่ร้อนๆ ก่อนจะลอกฉลากและทำความสะอาดกาวที่ติดอยู่ออกด้วยเมทิลแอลกอฮอล์ ( Methylated Spirit) หรือน้ำมันเบนซิน จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสบู่หรือน้ำผสมผงซักฟอก ล้างออกอีกทีด้วยน้ำร้อน เช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาดเนื้อนุ่ม
รอยเปื้อน :รอยน้ำ ตะกรัน รอยที่เห็นชัดสามารถลดเลือนได้ด้วยการแช่ไว้ในน้ำส้มสายชู 25% หรือกรดไนตริก 15% จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด ตามด้วยน้ำสบู่หรือน้ำผสมผงซักฟอก และล้างออกอีกครั้งให้สะอาดด้วยน้ำร้อน เช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาดเนื้อนุ่ม
รอยเปื้อน : สารแทนนิน ล้าง ด้วยน้ำร้อนผสมโซดาซักผ้า (โซเดียมไบคาร์บอเนต) จากนั้นล้างตามด้วยน้ำสบู่หรือน้ำผสมผงซักฟอก ล้างออกให้สะอาดด้วยน้ำร้อน เช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาดเนื้อนุ่ม
รอยเปื้อน : คราบสนิม แช่ส่วนที่ขึ้นสนิมในน้ำอุ่นผสมสารละลาดกรดไนตริกในสัดส่วน 9:1 เป็นเวลา 1 ชั่วโมง จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือทาพื้นผิวที่ขึ้นสนิมด้วยสารละลายกรดออกซาลิก ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำเย็นและเช็ดให้แห้งหรือ ในกรณีของคราบสนิมที่ติดทนและยากต่อการกำจัด อาจต้องใช้เครื่องจักรช่วยขัดทำความสะอาด
การดูแลรักษาสแตนเลส
1.หากไม่ได้ทำความสะอาดเป็นประจำ ควรทำความสะอาดทันทีที่พบรอยเปื้อนและฝุ่น
2.ในการทำความสะอาดควรเริ่มจากวิธีและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนที่สุดก่อน เสมอและทดลองทำความสะอาดเป็นบริเวณเล็กๆ ก่อนเพื่อให้มั่นใจถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
3.ใช้น้ำอุ่นเพื่อช่วยขจัดความมันของน้ำมันหรือจาระบีในขั้นตอนสุดท้ายของการทำความสะอาด ให้ใช้น้ำสะอาดล้างและเช็ดให้แห้งด้วยผ้าเนื้อนุ่มหรือกระดาษชำระแผ่นใหญ่ทุกครั้ง
4.เมื่อใช้กรดทำความสะอาดสแตนเลส ควรใช้มาตรการป้องกันและระมัดระวังอย่างเหมาะสม
5.ล้างเครื่องใช้ที่ทำจากสแตนเลสทันทีที่เตรียมอาหารเสร็จเสมอ
6.หลีกเลี่ยงรอยเปื้อนที่เกิดจากเหล็กโดยไม่ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดที่ทำจาก โลหะ หรืออุปกรณ์ที่เคยนำไปทำความสะอาดชิ้นส่วนที่ผลิตจากเหล็กกล้าคาร์บอน (Carbon Steel) มาก่อน
7.กรณีที่ไม่แน่ใจในวิธีทำความสะอาดหรือพบรอยเปื้อนที่ไม่สามารถขจัดออกได้ ให้ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงกับสแตนเลส
1.อย่าเคลือบสแตนเลสด้วยขี้ผึ้ง หรือสารที่มีความมัน เพราจะทำให้ฝุ่นหรือรอยเปื้อนติดบนพื้นผิวได้ง่ายขึ้นและทำความสะอาดได้ยาก
2.อย่าใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอไรด์และเฮไลด์ เช่น โบรไมน์ ไอโอดีนและฟลูออรีน
3.อย่าใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ทำความสะอาดสแตนเลส
4.อย่าใช้กรดไฮโดรคลอริค ในการทำความสะอาด เพราะจะเกิดการกัดกร่อนแบบรูเข็มและแบบเป็นรอยร้าวได้
5.อย่าใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่แน่ใจ
6.อย่าใช้น้ำยาทำความสะอาดเครื่องเงิน
7.อย่าใช้ปริมาณสบู่และผงซักฟอกมากเกินไปในการทำความสะอาด เพราะอาจทิ้งคราบไว้บนพื้นผิวได้
8.อย่าทำความสะอาดส่วนที่มีคราบฝังแน่นในขั้นตอนเดียว ควรทำความสะอาดเบื้องต้นก่อนกำจัดคราบ
20 มีนาคม 2566
ผู้ชม 117251 ครั้ง